ส่อง “ความหลากหลายทางชีวภาพ” ก.ล.ต. เตือนบจ. เร่งปรับตัว-ปกป้อง

“ความหลากหลายทางชีวภาพ” อีกประเด็นร้อนของธุรกิจยุคโลกเดือดที่นานาชาติเร่งขับเคลื่อน เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกันขับเคลื่อนเป็นครั้งแรกให้กับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) “ความหลากหลายทางชีวภาพ” (Biodiversity) เสมือน “บริการจากระบบนิเวศ” ให้ประชาคมได้เช็กแนวทางการประเมินและการเปิดเผยข้อมูล ด้านความหลากหลายทางชีวภาพของภาคธุรกิจ

ปัจจุบันภาคธุรกิจระดับโลกหลายภาคส่วนต่างเห็นพ้องกันว่าปัญหาเรื่องการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss) กับภาวะโลกรวน (Climate Change) เป็นภาวะวิกฤตของโลกที่ควบคู่กันสังเกตได้จากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) ซึ่งโดยปกติจะเป็นการประชุมที่เน้นในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ในการประชุม COP 27 เมื่อปี 2565 ได้มีการเน้นย้ำความสำคัญของการปกป้องและอนุรักษ์ธรรมชาติและระบบนิเวศ ยิ่งกว่านั้น ในการประชุม COP..28..เมื่อปี 2566 มีการประชุมเจรจาเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินสำหรับธรรมชาติ (Finance for Nature) และการเรียกร้องให้ภาคเอกชนลงทุนในแนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solution หรือ NbS) มากขึ้นด้วย

เราจึงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของทัศนคติต่อธรรมชาติขององค์กรต่าง ๆ และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ รวมถึงโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ผู้ลงทุนสถาบันระดับโลกหลายแห่งซึ่งบริหารจัดการสินทรัพย์ต่าง ๆ กว่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ได้เข้าร่วม Nature Action 100 (NA100) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะสร้างการสนับสนุนจากภาคเอกชนในการจัดการกับปัญหาเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลง ความหลากหลายทางชีวภาพได้รับความสนใจและถูกยกระดับให้มีความสำคัญมากขึ้น โดยถูกรวมไว้ในเป้าหมายที่ 14 (SDG 14 Life Below Water) และเป้าหมายที่ 15 (SDG 15 Life on Land) ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) นอกจากนี้ ในกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework) ก็ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับบทบาทของ “ตลาดเครดิตด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Markets)” และ “การให้เงินทุนด้านธรรมชาติ (Nature Finance)” เพื่อระงับยับยั้งการเสื่อมถอยของระบบนิเวศ ป้องกันและฟื้นฟูธรรมชาติ และเกื้อหนุนการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แหล่งทุนและธุรกิจอาจกำลังรักษาหรือทำลายสิ่งแวดล้อม อยู่ที่เราลงทุนและทำธุรกิจอย่างยึดโยงกับธรรมชาติอย่างไร? การจัดสัมมนา “เสริมสร้างความตระหนักและความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ” (เมื่อ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา) ก้าวแรกของทั้ง 3 หน่วยงานที่ร่วมกันส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และสนับสนุนให้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมีความมุ่งมั่นในเชิงนโยบาย สามารถนำไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ตลอดห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ได้อย่างเหมาะสม ในครั้งนี้มีตัวแทนกว่า 100 คนจากบริษัทจดทะเบียนเข้าร่วมทำความเข้าใจและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การลงทุนที่ช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ การทำธุรกิจที่เข้าใจและยึดโยงกับธรรมชาติตลอดกระบวนการ จนถึงการรายงานผลกลับมาที่ก.ล.ต.

ที่มา : mgronline (https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000081091)

CR.https://www.onep.go.th/2-%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%a2%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%99-2567-%e0%b8%aa%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%87-%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%ab/

#วันมอร์ลิงค์ #onemorelink #บริการรับกำจัดกากอุตสาหกรรม #กากอุตสาหกรรม #สิ่งแวดล้อม #ข่าววันนี้ #ความรู้ทั่วไป #CEORAPATSORN #ประเทศไทย #เทรนด์โลก #โลกร้อน #ขึ้นหน้าฟีด